ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก
ลายสกรีนนูนขนาดนี้ บล็อกต้องหนาขนาดไหน
ต้องการสกรีนให้งานนูนๆ หนาๆ แล้วยังต้องให้คมเป็นสันแบบนี้ เค้าทำกันอย่างไร ผ้าเบอร์อะไร กาวถ่ายหรือกาวอัดบล็อกต้องใช้วิธีการปาดยังไง เวลาในการถ่ายเท่าไหร่ วันนี้มาอธิบายให้ชัดๆ แบบละเอียดๆ กันไปเลย
เบอร์ผ้าสกรีนที่นำมาใช้ โดยปกติจะนิยมกันอยู่ในช่วงเบอร์ 24T-53T เป็นเบอร์ที่มีตาห่างในระดับเดียวกันกับที่ใช้กับหมึกประเภทเชื้อน้ำ หรือ หมึกยาง หรือบางทีอาจโดดไปใช้เบอร์ที่สูงกว่านี้ก็พอได้อยู่บ้าง หากจำเป็นที่จะต้องใช้กับลายพิมพ์นูนที่มีความละเอียดหรือเล็กมากหน่อย ไม่อยากแนะนำให้ใช้เกินเบอร์ 70T ขึ้นไป
ความดึงผ้าก็มีผล ตรงนี้แนะนำให้เวลาขึงผ้า ใช้เครื่องวัดแรงตึงอ่านค่าให้อยู่ที่ราวๆ 15N เป็นแรงตึงที่มีความเหมาะสมกับการพิมพ์ลายสกรีนนูน หรือการพิมพ์สกรีน 3D HiDen
บล็อกสกรีนมีหน้ามีหลัง ก่อนจะอธิบายต่อ เรามาปรับความเข้าใจของเราให้ไปในทางเดียวกันก่อน ถ้าดูจากภาพ เราจะเรียกด้านที่เวลาสกรีนสัมผัสกับเสื้อ หรือวัสดุที่เราจะสกรีนว่า “ด้านหลัง” และด้านที่สัมผัสกับยางปาดเวลาสกรีนว่า “ด้านหน้า”
เตรียมพื้นที่เพื่อขึ้นกาวถ่าย เราจะต้องใช้เวลากับกระบวนการนี้ค่อนข้างนานที่สุดกระบวนการนึงเลย ดังนั้นแนะนำว่า ควรเตรียมพื้นที่การทำงานในจุดนี้ให้สะดวกสักนิดนึง เริ่มจากหาพนักพิงบล็อกสกรีนที่จะนำมาขึ้นกาวถ่าย อาจจะง่ายๆ ด้วยการหากำแพงพิงก็ได้ แต่ที่สำคัญจะอยู่ตรงที่หาอะไรมารองบล็อกสกรีนสักนิด ตามตัวอย่างในภาพ อย่าลืมว่าต้องอยู่ในห้องมืดด้วยนะ (หรือห้องแสงสีเหลืองก็ได้)
กาวถ่ายบล็อก เลือกกาวถ่ายที่ผลิตมาเพื่อการถ่าย หรือการอัดให้เหมาะสมกับลายสกรีนนูนด้วย หากใช้กาวถ่ายแบบทั่วไป เทคนิคที่กำลังจะอธิบายให้ฟัง ก็ไม่สามารถทำให้เกิดลายสกรีนนูนได้ง่ายนัก
วิธีการปาดกาวถ่าย
1. เริ่มจากการนำบล็อกสกรีน ที่ขึงผ้าเรียบร้อยแล้ว พิงกับอุปกรณ์ที่เราเตรียมไว้ (ผนังพิง) โดยเริ่มจากการปาดกาวด้านหลังก่อน ปาดขึ้น 2 ครั้ง (สลับบนล่าง) หลังจากนั้น ก็เปลี่ยนมาปาดกาวด้านหน้า ปาดขึ้น 2 ครั้งเช่นกัน (สลับบนล่าง)
2. เมื่อปาดเสร็จ นำบล็อกสกรีนมาอบให้กาวแห้ง อุณหภูมิและเวลาที่แนะนำคือ 45C และ 15-20 min ตามลำดับ
3. พอกาวแห้งแล้ว ก็ให้นำบล็อกสกรีนมาขึ้นกาวต่อเป็นครั้งที่ 2 แต่ครั้งนี้ให้ขึ้นกาวเฉพาะด้านหลังเท่านั้น โดยครั้งนี้ให้ปาด 6 ครั้งตามภาพ อย่าลืมสลับบล็อกบนล่างแบบในภาพทุกครั้งที่ปาดด้วย การสลับบล็อกจะช่วยทำให้กาวที่ปาดไปมีความสม่ำเสมอทั้งทั้งบล็อก
4. เมื่อปาดเสร็จแล้ว ก็ให้นำบล็อกสกรีนไปอบให้เแห้งเช่นเคย โดยใช้อุณหภูมิและเวลาในการอบใกล้เคียงกัน หรือจะใช้ค่าเดียวกันก็ได้ที่ 45C และ 15-20 min
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะว่า อยากให้มันเกิดความนูนหนาแค่ไหน ก็ให้ทำขั้นตอนที่ 3 และ 4 ซ้ำวนๆ ไป จนกว่าจะพอใจ แต่ขอแนะนำว่า อย่าให้เกิน 4 รอบ (เมื่อรวมกับขั้นตอนที่ 1 และ 2 แล้วจะนับเป็น 5 รอบ) เพราะหากมากเกินไป จะทำให้ลายที่ถ่ายออกมาเกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลายพิมพ์ขนาดเล็กมากๆ บางทีอาจต้องปาดเพียงแค่ 3 รอบเท่านั้น
ต้องการทักทายสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่าน LINE@ คลิ๊กเลย
เข้าตู้ถ่ายบล็อก เมื่อบล็อกถูกอบให้แห้งในขันตอนของรอบสุดท้ายแล้ว ก็นำบล็อกสกรีนมาทำการฉายแสงตามปกติ สำหรับเบอร์ผ้า 47T ความดึง 15N และขึ้นกาวถ่ายตามแบบเดียวกับขั้นตอนข้างต้น ให้ใช้เวลาในการถ่ายบล็อกราวๆ 300 sec โดยคิดง่ายๆ ว่า หากขึ้นกาวถ่าย 1 รอบ ให้ฉายแสง 60 sec ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะขึ้นกาวแค่เพียง 4 รอบ ก็ให้ตั้งเวลาในการฉายแสงเพื่อถ่ายบล็อกสกรีนแค่เพียง 60 sec X 4 รอบ = 240 sec เท่านั้น
ในกรณีนี้ แนะนำให้ฉายแสงกับตู้ถ่ายบล็อกขนาด 3,000 W แต่หากเป็นตู้ถ่ายบล็อกขนาดเล็กลงมาอย่าง 2,000 W แนะนำว่าให้คิดตัวคูณเวลาเปลี่ยนไปเป็น 80 sec ดังนั้นหากเราขึ้นกาวถ่าย 4 รอบ เวลาในการฉายแสงจะเป็น 80 sec X 4 = 3,200 sec หากเราขึ้นกาวถ่าย 5 รอบ เวลาในการฉายแสงจะเป็น 80 sec X 5 = 4,000 sec
แต่ทางที่ดี แนะนำว่าควรใช้แผ่น Exposure Calculator มาเป็นตัวช่วยในการคำนวณจะดีที่สุด สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าแผ่น Exposure Calculator คืออะไรนั้น จะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้งนึงเร็วๆ นี้
ฉีดบล็อกให้ถูกด้าน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการฉายแสงแล้ว ก็ให้นำบล็อกสกรีนมาแช่น้ำเปล่าทิ้งไว้ราวๆ 3-5 นาที แล้วนำมาฉีดล้างด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ข้อระวังก็คือ ให้ฉีดน้ำเข้าที่ด้านหลังของบล็อกเท่านั้น ไม่แนะนำให้ฉีดจากด้านหน้า เพราะอาจจะทำให้กาวในส่วนที่ไม่ควรหลุด อาจจะถูกแรงดันน้ำฉีดจนทำให้หลุดออกมาได้ เพราะด้านตรงข้างมันหนามากพอที่จะด้านแรงน้ำให้หลุด