เปิดเคล็ดลับ ปลูกมะนาวติดผลตลอดปี ด้วยผักตบชวาในวงบ่อซีเมนต์!


ในบรรดาอาหารไทย มีส่วนประกอบที่เป็นยาชั้นดีคือ สมุนไพร ที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้น สามารถนำมาประกอบอาหารได้ดี และมีประโยชน์ต่อร่างก่าย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ ซึ่งมีรสชาติเผ็ดร้อน ถึงรสถึงชาติ

อาหารไทย รสชาติที่ขาดเสียไม่ได้ คงจะไม่พ้น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อาหารที่ต้องมีรสเปรี้ยว ส่วนใหญ่จะใช้น้ำมะนาวเป็นส่วนประกอบ เพื่อความหอมกลมกล่อม เพื่อให้มีรสชาติดี เช่น ต้มยำ น้ำพริกกะปิ ยำต่างๆ มะนาว จัดได้ว่าอยู่คู่อาหารไทยเลยทีเดียว

ปัจจุบันมะนาวในบ้านเราค่อนข้างมีราคาแพง ยิ่งเป็นมะนาวนอกฤดูด้วยแล้ว บางปีราคาผลละ 5 บาทเลยก็มี หรืออาจมากกว่านั้น เพราะถ้าใช้ความเปรี้ยวจากน้ำมะนาวเทียมอาจหอมสู้น้ำมะนาวแท้ๆ ไม่ได้ ทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยน เพราะรสเปรี้ยวที่ได้ทำจากกรดซิตริก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544 ระบุว่าน้ำมะนาวเทียม จัดเป็นวัตถุกันเสียที่แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ ซึ่งอาจมีส่วนผสมของน้ำมะนาวน้อย ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย


แต่สำหรับเกษตรกร การทำมะนาวให้ออกนอกฤดูบางครั้ง เป็นเรื่องที่ลำบาก อาจจะด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ มะนาวจึงมีราคาแพง แต่สำหรับเกษตรกรรายนี้ สามารถปลูกมะนาวให้ออกผลได้ตลอดปี โดยไม่ต้องใช้เทคนิคใดๆ ในการจัดการ แค่นำมาปลูกในผักตบชวา ที่ย่อยสลายผุพังตามธรรมชาติแล้ว เกษตรกรที่เป็นผู้ริเริ่ม คือ ลุงชาญ บุญเลิศ

ลุงชาญ อยู่บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ที่ 10 ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

จากชาวนา สู่หัวหน้ากลุ่ม ช่วยชุมชนสร้างรายได้

ลุงชาญ เล่าว่า เดิมทีทำนา ประมาณ 24 ไร่ ซึ่งสมัยนั้นทำเท่าไหร่ก็มีแต่หนี้สินหลายแสนบาท แทบไม่มีเงินเก็บ พอประมาณปี 2536 จึงเลิกทำนา เพราะหนี้สินไม่มีวี่แววว่าจะลดน้อยลง เพราะสมัยนั้นราคาข้าวตกต่ำ มีขึ้นมีลงไม่แน่นอน ทำให้เงินทุนที่เก็บไว้ก็ต้องนำมาใช้จ่าย จึงตัดสินใจเลิกทำนาอย่างเด็ดขาด

ลุงชาญ เล่าต่อว่า พอเลิกทำนา ก็มาทำเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพหลัก เพราะขณะที่ทำนาได้ทำเห็ดเสริมอยู่แล้ว ด้วยการอัดก้อนเชื้อขายและเปิดก้อนเชื้อขายดอกเอง ทำมาได้สักระยะ ครู กศน. ได้มาแนะนำให้ลุงชาญรวมกลุ่มเพื่อทำเห็ด สามารถรวมกลุ่มได้ 15 คน ทำก้อนเห็ดได้ประมาณ 2,000 กว่าถุง ต่อวัน ช่วงที่รอเชื้อเห็ดเดินให้เต็มถุง ลุงชาญ เล่าว่า จะเป็นช่วงที่ลุงชาญกับสมาชิกกลุ่มค่อนข้างว่าง ลุงชาญจึงได้หามะนาวมาปลูกและขยายพันธุ์ขาย ช่วงนั้นมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตรกำลังเป็นที่นิยม

“พอ ครู กศน. เข้ามาก็ให้ตั้งกลุ่ม ทำบัญชีครัวเรือนรายรับรายจ่าย ก็มาแนะนำสิ่งต่างๆ เห็ดที่ทำ ต้องรอให้เชื้อมันเดินเต็ม ช่วงนี้ก็ว่าง ทาง ครู กศน. ก็มาแนะนำให้ขยายพันธุ์มะนาว เริ่มแรกเดิมที มีแค่ 6 ต้น เพราะสมัยนั้นแป้นพิจิตรกำลังดัง ก็ได้มาขยายพันธุ์ พอทำแล้วดี ก็เลยให้คนในกลุ่มทำ เพราะบางคนในกลุ่มก็มีรายได้น้อยแตกต่างกันไป ผมเลยแบ่งกิ่งที่ขยายให้ครอบครัวละ 5 กิ่ง ให้ไปปลูกให้ไปขยายพันธุ์ ถ้าขายได้ให้ขายไป ถ้าขายไม่ได้ให้ขนมาที่บ้านผม เพราะที่นี่เป็นศูนย์กลาง มีคนมาที่นี่ส่วนใหญ่” ลุงชาญ กล่าว


จากการสังเกต นำมาสู่การค้นพบ

เมื่อทางสมาชิกกลุ่มของลุงชาญสามารถขยายพันธุ์มะนาว ปลูกเพื่อหารายได้ให้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว แต่มะนาวที่ปลูกก็ยังไม่สามารถออกลูกได้ทั้งปี เพราะยังออกตามฤดูกาลอยู่ จึงทำให้ต้องขายกิ่งพันธุ์มะนาวเพียงอย่างเดียว แต่ลุงชาญเองก็ไม่หยุดพยายามหาวิธีเรียนรู้ให้กับตัวเองเรื่อยๆ จนค้นพบการทำให้มะนาวออกผลตลอดปี

ลุงชาญ เล่าว่า เป็นคนชอบหาปลาตามแหล่งน้ำใกล้บ้าน ขณะที่ไปหาปลาได้สังเกตเห็นว่า ตรงบริเวณที่อื่นข้างๆ คลองแห้งแล้งไปหมด แต่มีอยู่บริเวณเดียวของคลอง ที่มีวัชพืชขึ้นไม่แห้งตาย ด้วยความสงสัยจึงไปดูว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมถึงไม่แห้งตาย

“ที่ตรงอื่น มันแห้งแล้งไปหมด แต่มีอยู่ที่หนึ่งมันเขียวชอุ่ม ตรงนั้นมันเป็นสะพานปูน ผักตบชวามันก็ไปอัดกันตรงสะพานปูน เพราะรถตักดิน ตักทิ้งเอาไว้ แต่วัชพืชมันก็ไปขึ้นบนนั้นเขียวไปหมด ก็เลยสงสัยว่ามันเป็นเพราะอะไร แต่ทีแรกยังไม่รู้ว่ามันเป็นผักตบชวา ก็ลองไปคุ้ยดู เลยรู้ว่าข้างล่างเป็นผักตบชวา ก็เลยนึกขึ้นมาว่า เราปลูกมะนาวอยู่ ลองเอามาปลูกกับมะนาว 1 วงบ่อซีเมนต์ ขนมาแค่กระสอบเดียว พอดูไปสักระยะ ไอ้ที่ปลูกกับดินมันไม่ค่อยโต แต่ที่ปลูกกับผักตบชวามันแตกยอดดี แต่ผักตบชวาที่เอามา นั่นย่อยสลายแล้ว ผุแล้ว ปลูกด้วยผักตบชวาล้วนๆ ไม่ใส่ดินเลย” ลุงชาญอธิบายสิ่งที่ได้จากการสังเกตรอบตัว


เมื่อ คอยสังเกตดูต้นมะนาวที่ปลูกด้วยผักตบชวาเติบโตได้ดีลุงชาญจึงชวนภรรยานำรถกระบะไปขนผักตบชวาที่ย่อยสลายดีแล้วตามคลองนำมาใส่ปลูกมะนาวได้อีก 5 วงบ่อซีเมนต์ ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน มะนาวโตดี ติดดอก ออกผล ซึ่งผิดกับมะนาวที่ปลูกกับดินต้นยังแคระแกร็น ไม่โตเท่าที่ควร

มะนาวโตดี ผลผลิตดี  กลายเป็นศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน

ลุงชาญ เล่าว่า เมื่อมะนาวที่ปลูกด้วยผักตบชวาโตดี ติดลูกดี ได้ผลผลิตดี จึงบอกให้สมาชิกในกลุ่มทราบ ทุกคนจึงนำไปปฏิบัติจนเห็นผลเหมือนที่ลุงชาญทำ จึงทำให้มีคนหลายพื้นที่มาศึกษาดูงานเรื่อยๆ จนเป็นที่น่าภาคภูมิใจของกลุ่ม ลุงชาญยังบอกอีกว่า ผักตบชวาที่นำมาใส่ลงในวงบ่อซีเมนต์นั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องใช้ในอัตราส่วนเท่าไหร่ สามารถนำผักตบชวาที่ย่อยสลายดีแล้ว ใส่ลงไปในวงบ่อซีเมนต์ที่ปลูกมะนาวได้เลย

“คนก็เริ่มมาดูงาน เพราะทั้งสวนใช้ผักตบชวาหมดเลย ตอนที่ขนผักตบชวามา ถ้าสดอยู่ เอามาทิ้งให้ผุก่อน ประมาณ 45-60 วัน แต่ถ้าที่ผุแล้ว เอามาใส่ใช้ได้เลย ปลูกไปนานๆ มันจะยุบ จะให้อยู่ตัว ต้องเติมผักตบชวาอีกประมาณ 3 ครั้ง จะอยู่ตัว หรือดูตามความเหมาะสมก็ได้ ถ้ายุบลงไปเหลือครึ่งวงบ่อ ก็คอยหมั่นเติม ไม่ต้องใส่ดินเลย” ลุงชาญ อธิบายขั้นตอน

นอกจากนี้ ลุงชาญยังบอกอีกว่า ถ้าช่วงที่น้ำในคลองแห้งมากๆ ผักตบชวาจะหายากไม่ค่อยมี ก็จะใช้กาบมะพร้าวสับเพื่อแทนผักตบชวา แต่ที่เป็นหลักสำคัญที่สุดคือ ผักตบชวา เพราะทำให้ในดินมีไส้เดือน ด้วง แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของดินผักตบชวา ที่ร่วนซุยทำให้รากมะนาวเดินได้ดี 

การขาย เน้นที่ความต้องการของตลาด

ลุงชาญ บอกว่า มะนาวที่สวนมีมากกว่า 20 สายพันธุ์ ขายทั้งกิ่งพันธุ์และผล แต่ที่คนนิยมซื้อจะเป็นแป้นพิจิตร แป้นลูกผสม ทูลเกล้า และเลมอน เพราะ 4 พันธุ์หลักนี้ จะไม่เป็นโรค แต่ถ้าเป็นมะนาวเปลือกบางๆ ฤดูฝนจะเป็นโรคแคงเกอร์ เช่น แป้นวโรชา แป้นตะวัน แป้นทะวาย ซึ่งเมื่อเทียบกับ 4 พันธุ์แรก ลูกจะดกสู้ไม่ได้ เป็นโรคได้ง่ายกว่า

ส่วนราคามะนาวช่วงนี้ ลุงชาญบอกว่า ขายอยู่ที่ผลละ 1 บาท เพราะราคาแตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล ช่วงที่มะนาวแพงๆ ที่ศูนย์เรียนรู้ของลุงชาญ ขายได้ถึงผลละ 5 บาท คือ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ช่วงนั้นที่ศูนย์ของลุงชาญจะไม่เก็บเอง แต่ให้คนที่ซื้อมาเลือกเก็บเองจากต้น

“ช่วงที่มะนาวแพงๆ ที่ศูนย์เราจะไม่เก็บ แต่จะให้คนซื้อมาเก็บเอง เลือกเอาตามใจชอบ ว่าจะเอาเล็กใหญ่ขนาดไหน มีราคาเดียว 5 บาท เพราะที่ศูนย์เราไม่ไกลจากตัวเมืองเท่าไหร่ แต่ถ้าช่วงที่มะนาวราคาถูก ทางศูนย์เราก็เตรียมการ เอามาแปรรูปเป็นน้ำมะนาวขาย สามารถเก็บไว้ในตู้เย็น ไว้กินดับกระหาย” ลุงชาญ กล่าว

กศน. เห็นความสำคัญ จึงสนับสนุนเป็นศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน


คุณรัตนา รักษ์วรรณา ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอบางระจัน เล่าว่า “กศน. เรามาช่วยสนับสนุน ซึ่งลุงชาญเองมีความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง เพราะเรามีครู กศน. ตำบล ซึ่งดูแลตำบลนี้อยู่ จึงให้เข้ามาช่วยเติมเต็ม ดูว่ามะนาวที่ลุงชาญมีอยู่นั้นกี่พันธุ์ แล้วให้หาพันธุ์อื่นๆ เข้ามาเสริม ให้มีมากขึ้นกว่าเดิม แล้วเรายังช่วยส่งเสริมให้บ้านของลุงเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเอาความรู้ที่ลุงชำนาญมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเห็ด หรือจะเป็นเรื่องการปลูกมะนาว ก็จะให้ ครู กศน. ของตำบลนี้พาชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาดู เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาทดลองทำ เข้ามาฝึก จนชาวบ้านสามารถทำได้ ขยายองค์ความรู้ต่อไป ทำให้ชุมชนตรงนี้ มีรายได้มากขึ้น”

“ส่วนด้านงบประมาณ เราก็มีลงมา เพื่อให้จัดการเรื่องอาชีพ ให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการจัดการนั้น ได้ส่ง ครูรังสรรค์ บุญมาแคน เข้ามาในพื้นที่ เพื่อเชิญชวนคนที่สนใจ ที่มีรายได้น้อยมาเรียนรู้ ซึ่งเรามาเติมเต็มให้ จากที่ลุงทำบ้านเดียว ขยายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น”
 คุณรัตนา กล่าว

ครูรังสรรค์ ครู กศน. ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เล่าว่า การส่งเสริมครั้งนี้ ดูองค์ประกอบของชุมชนเป็นหลัก เพราะที่ชุมชนมีทั้งผู้สูงอายุ และคนว่างงาน ซึ่งการที่ครูรังสรรค์เลือกลุงชาญ เพราะลุงชาญมีความรู้ความสามารถหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเพาะเห็ด การทำมะนาว และค้นพบว่า ผักตบชวาสามารถเอามาปลูกมะนาวได้ และที่สำคัญอยากให้ผลผลิตที่ออกมาปลอดสารเคมี จึงต้องริเริ่มทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นแบบแผน โดยเอาความรู้ของลุงชาญมาช่วย เพราะต้องการปลูกมะนาวที่ไม่ใช้สารเคมี ให้เป็นมะนาวปลอดสารพิษ

“ช่วงที่ลุงชาญมาลอง และรู้ว่าปลูกด้วยผักตบชวาดี ผมเลยลองเอาดินผักตบชวาไปตรวจ หลักๆ คือ N (ไนโตรเจน) P (ฟอสฟอรัส) K (โพแทสเซียม) ส่งไปให้กรมพัฒนาที่ดินตรวจสอบ มันจะมีค่า K เยอะ ซึ่งเยอะกว่าค่า N เล็กน้อย ก็เลยทำให้เวลาปลูก มะนาวแตกยอดได้ดี เพราะมีค่าของอาหารแทบครบ มันก็เลยติดดอกเลย จากที่เห็นมา เราไม่ต้องไปบังคับ เอาถุงพลาสติกคลุมบ่อซีเมนต์ แต่การใช้ผักตบชวา มันแตกกิ่ง ออกดอกตลอด เรียกได้ว่า ทั้งปีเลย ซึ่งเขาว่ากัน แป้นพิจิตรจะไม่ออกดอกทั้งปี แต่พอใช้ผักตบชวา มันออกผลมาให้ตลอด และที่นี่จะไม่ใช้สารเคมี ถ้าจะใช้ก็จะเป็นปูนขาว หรือสารชีวภาพทำเอง เพราะบางอย่างมาจากความคิดของลุงชาญที่ทดลองหลายๆ วิธี เลยทำให้ทุกคนอยากที่จะมาเรียนรู้ การใช้ผักตบชวาปลูกมะนาว เพราะจากความสำเร็จทำให้รู้ว่ามีต้นมะนาวไม่มาก แค่ 20 ต้น แต่สามารถสร้างรายได้หลักแสน ทั้งขายดินผักตบชวา ขายกิ่งพันธุ์ แถมมีสมาชิกทำด้วยที่บ้าน ทำให้ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ครบวงจรทุกด้าน” ครูรังสรรค์ กล่าว


นอกจากนี้ ทางศูนย์เรียนรู้ได้นำมะเดื่อฝรั่งมาลองปลูกด้วยดินผักตบชวา มะเดื่อฝรั่งเจริญเติบโตได้ดี ทำให้มีผลผลิตออกขายเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มต่อไป ที่ศูนย์เรียนรู้ที่บ้านของลุงชาญ ขายกิ่งมะเดื่อฝรั่งด้วยวิธีปักชำ กิ่งละ 100 บาท แต่ถ้าเป็นกิ่งตอน จะอยู่ที่กิ่งละ 200-300 บาท ราคาอยู่ที่ความสวยของกิ่ง พันธุ์มะเดื่อฝรั่งที่ขายมี 2 พันธุ์ คือ โคนาเดีย และแบล็กแจ็ก ท่านใดสนใจสามารถหาซื้อหรือสอบถามการปลูกได้

จะเห็นได้ว่า การสร้างชาติที่เข้มแข็งอาจต้องเริ่มจากการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพราะองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวของเกษตรกร ดังเช่น ลุงชาญ ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ จนสามารถถ่ายทอดไปสู่หมู่คนที่ต้องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้เกษตรกรไทยและผู้ที่สนใจที่มาศึกษาดูงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ลดน้อยลง การพัฒนาของประเทศชาติก็จะไปได้ไวขึ้น เพราะทุกคนในชาติมีความรู้ความสามารถ โดยเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งจากเกษตรกร ไปสู่ชุมชน ขยายไปเรื่อยๆ จนสู่ระดับประเทศ

สำหรับท่านใดที่สนใจศึกษาดูงาน หรือติดต่อซื้อกิ่งพันธุ์มะนาว ก้อนเห็ด ดอกเห็ด และกิ่งมะเดื่อฝรั่ง สามารถติดต่อได้ที่ ลุงชาญ บุญเลิศ หมายเลขโทรศัพท์ (086) 313-4455

ติดตามข่าวสารอื่นๆได้ที่