โรคกระดูกและข้อ ปวดเข่า

โรคกระดูกและข้อ (ปวดเข่า)



ปวดเข่า

โครงสร้างและหน้าที่ของเข่าเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุด

       เมื่อเทียบกับบรรดาข้อต่างๆในร่างกายเรา ข้อเข่า ประกอบด้วย
  • กระดูกต้นขาส่วนปลาย (อยู่ส่วนบนของเข่า)
  • กระดูกหน้าแข้งส่วนต้น (อยู่ส่วนล่างของเข่า)
  • หมอนรองกระดูกแทรกอยู่ในระหว่างกระดูกต้นขาส่วนปลาย และกระดูกหน้าแข้งส่วนต้น มีหน้าที่รองรับแรงกระแทกและให้การเคลื่อนไหวของเข่าคล่องตัว
  • กระดูกสะบ้า (ปิดอยู่ด้านหน้าของเข่า)
  • เอ็นหุ้มข้อเข่าหลายเส้น ยึดหุ้มข้อเข่าไว้ด้วยกันเพื่อให้เข่ากระชับมั่นคง
  • ในข้อเข่ามีน้ำเลี้ยง (Synovial ) เป็นน้ำหล่อลื่น ป้องกันเข่าสึก

สาเหตุของการปวดเข่า ได้แก่

  1. ข้อเข่าเสื่อม ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
    • การเสื่อมตามวัย มีมวลกระดูกลดลง หมอนรองกระดูกบางลง ขาดความยืดหยุ่นเอ็นหลวม ทำให้ข้อเข่าหลวมและปวดเข่า
    • เสื่อมจากการใช้งานหนัก เช่น แบกของหนัก นั่งงอเข่านานๆ ผู้หญิงใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานๆน้ำหนักตัวเกิน
    • จากอุบัติเหตุ เล่นกีฬาหนักๆ ล้มกระแทกกันบ่อยๆ กระโดดบ่อยๆก็ทำให้ปวดเข่าได้เช่นกัน
    • จากการอักเสบติดเชื้อ
  2. ปวดเข่า
  3. การฉีกขาดของเอ็นเข่า
    • พบบ่อยในนักกีฬาที่ต้องใช้แรงปะทะกระแทกล้มบ่อยๆ เช่น ฟุตบอล
    • จากอุบัติเหตุ เช่น ตกบันได สะดุดล้ม

อาการปวดเข่าที่ควรไปพบแพทย์

  • ปวดเข่าอย่างรุนแรง
  • ยืนไม่ได้นาน ลงน้ำหนักไม่ได้
  • รูปร่างของเข่าผิดปกติ
  • เข่าบวม แดงร้อน มีไข้

วิธีการตรวจรักษา

  • ซักประวัติ อาการปวดและตรวจลักษณะภายนอกเช่น บวม แดง หรือหลวม รูปร่างของเข่าโก่ง
  • การเอกซเรย์ หรือ MRI
  • อาจมีการเจาะน้ำในเข่าส่งตรวจ

การรักษาข้อเข่าเสื่อม

  1. รักษาด้วยยา
    • ยาบรรเทาปวด ยาลดการอักเสบของกล้าม
    • ยาฉีด Hyaluronic acid ช่วยเพิ่มการหล่อลื่นในข้อเข่า และกระตุ้นการผลิตน้ำหล่อเลี้ยงเข่าสามารถลดปวดได้ จะฉีดยาตัวนี้ให้ต่อเมื่อ ผู้ป่วยปวดเข่ามาก รับประทานยาแก้ปวดไม่ดีขึ้น ทำกายภาพบำบัดอาการปวดไม่ดีขึ้น และในรายที่ไม่ต้องการผ่าตัด หรือมีข้อจำกัดในการผ่าตัดเข่า
  2. การทำกายภาพบำบัด อาจรักษาร่วมกับการใช้ยา วัตถุประสงค์เพื่อลดปวด บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง ฝึกการใช้ไม้เท้า หรือผ้าพยุงเข่า
  3. การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม มี 2 ชนิด
    • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
    • การผ่าตัดดัดเข่า

การผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total knee Arthroplasty)

       คือการเอาผิวข้อเข่าเดิมที่เสื่อมสภาพออกทั้งหมดใส่โลหะเทียมไปครอบแทนผิวข้อเข่าที่เอาออกไปเหมาะกับผู้ป่วยอายุมาก 60 ปีขึ้นไป และกระดูกผิวข้อเข่าเสื่อมสภาพหมด ปอดรุนแรงต้องใช้ยาแก้ปวดทุกวัน เข่าผิดรูป เข่ายึด เหยียดงอไม่ได้เต็มที่        ข้อเข่าเทียม ต้องใส่ตลอดชีวิต มีอายุการใช้งานประมาณ 10 – 15 ปี ฉะนั้นต้องมีการดูแล ถนอมเข่าเทียมให้ใช้งาน ได้นานๆ เช่น ไม่ควรนั่งขัดสมาธิ หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ บริหารกล้ามเนื้อรอบๆเข่าให้แข็งแรง เป็นต้น

การผ่าตัดดัดเข่า (High Tibialosteotomy)

  • เป็นการผ่าตัด เพื่อกระจายน้ำหนัก จากด้านที่ผิวเข่าสึกกร่อน ไปด้านตรงข้าม
  • การผ่าตัดวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่อายุยังไม่มากและผิวข้อเข่าเสื่อมสภาพบางส่วน มีการสึกกร่อนของกระดูกผิวข้อเข่า ด้านใน และด้านนอกไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่พบว่า ผิวข้อเข่าด้านในสึกกร่อน ผิวข้อเข่าด้านนอกยังดีอยู่ ผู้ป่วยมักปวดเข่าด้านใดด้านหนึ่ง
  • ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หลังจากแผลหายสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ

นวัตกรรมการเปลี่ยนข้อเข่า

       การผ่าตัดแบบดั้งเดิมคือเปิดแผลหน้าเข่ายาวประมาณ 15 – 20 ซม. แต่ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าสมัยใหม่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการผ่าตัด แผลผ่าตัดจะเล็กกว่าเดิมมาก เนื่องจากใช้แขนกลหุ่นยนต์ ช่วยผ่าตัดซึ่งระบบจะประกอบไปด้วย Navigator (ระบบนำร่อง) ระแบบคอมพิวเตอร์ สำหรับการคำนวณ แพทย์ จะป้อนข้อมูลของผู้ป่วย เช่น ลักษณะการสึกของผิวข้อเข่า ความโก่ง ของเข่า เป็นต้น คอมพิวเตอร์ จะมีระแบบคำนวณ และสร้างแบบจำลอง การผ่าตัด ซึ่งมีความถูกต้องแม่นยำมากการคำนวณ มีความละเอียดเป็นหน่วย มิลลิเมตร ช่วยให้แพทย์แต่งกระดูกให้ได้มุมสอดรับกับผิวข้อเทียม และช่วยในการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมได้แม่นยำ ลดการบอบช้ำ เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว สามารถเดินใช้เร็วภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

หลังผ่าตัดข้อเข่าควรทำอย่างไร

  1. แพทย์มักแนะนำการฟื้นฟูเข่าภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
    • เพื่อช่วยให้ข้อเทียมที่ใส่เข้าไป กระชับ
    • เพื่อป้องกันข้อเข่าติด
    • เพื่อลดภาวะหลอดเลือดที่ขาอุดตัน
  2. บริหารกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าแข็งแรง
  3. ควรฝึกเหยียดและงอเข่าให้ได้อย่างน้อย 100 องศา
  4. ระมัดระวังการใช้เข่าอยู่ทนุถนอมหลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งยองๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อเข่า เพราะการงอเข่านานๆจะทำให้เลือดไปเลี้ยงเข่าน้อยลง
  5. ควรปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกัน
  6. ห้องน้ำควรเป็นแบบนั่งชักโครกหรือหาเก้าอี้เจาะรูวางไว้เหนือคอห่าน
  7. เตียงนอนควรมีความสูงระดับเข่า
  8. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได
  9. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม
  10. งดอาหารไขมันสูง รสหวานจัด และ แอลกอฮอล์
  11. ดื่มน้ำ 8 – 10 แก้วต่อวัน
  12. ห้ามให้แผลถูกน้ำ สังเกตแผลผ่าตัดหากบวมแดงปวดให้มาพบแพทย์
  13. รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ และมาพบแพทย์ตามนัด

การป้องกันข้อเข่าเสื่อม

  1. การออกกำลังกาย ฝึกกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ให้แข็งแรง
  2. การเล่นกีฬาต่างๆควรมีความรู้ทักษะการเล่นที่ถูกต้อง
  3. มีการอุ่นร่างกาย ยึดกล้ามเนื้อก่อนและหลังเล่นกีฬา
  4. อาจหลีกเลี่ยงไปเล่นกีฬาที่ เสี่ยงต่อแรงกระแทก ที่เข่าน้อยกว่า เช่น การขี่จักรยาน ว่ายน้ำ
  5. ควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อลดแรงกดที่เข่า
  6. หลีกเลี่ยงการนั่งขัดสมาธิ นั่งพื้นราบ การนั่งยองๆ จะทำข้อเข่าเสื่อมเร็ว
  7. ป้องกันอุบัติเหตุ บ้านต้องสว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวาง บันไดมีราวจับ

การรักษาเอ็นเข่าฉีกขาด

แบ่งเป็น 3 กรณีตามความรุนแรง
  1. กรณีเนื้อเยื่อบางส่วนของเอ็นฉีกขาด แพทย์จะรักษาด้วยยาบรรเทาปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ใส่ผ้าพยุงเข่า หรือทำกายภาพบำบัด งดการใช้เข่าชั่วคราว
  2. กรณีเอ็นฉีกขาดบางส่วน แพทย์จะพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยว่าจะผ่าหรือไม่ ถ้าไม่ผ่าตัดอาจให้พักหรือใส่เฝือกไว้
  3. กรณีเอ็นเข่าฉีกขาด แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด เย็บซ่อมเอ็น หรือสร้างเอ็นใหม่

การผ่าตัด ซ่อมแซม หรือสร้างเอ็นใหม่

       นอกเหนือจากการผ่าตัดแบบเดิมคือเปิดแผลที่เข่าแล้ว ปัจจุบันผู้ป่วยยังมีทางเลือกของการผ่าตัดด้วยแผลเล็ก คือผ่าตัดผ่านกล้อง จะทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย เดินได้เร็วขึ้น

การผ่าตัดส่องกล้อง

       ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัย โดยเฉพาะการผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้างแบบเดิมๆแล้ว การผ่าตัดสร้างเ
อ็น ไขว้หน้า(ACL) และการเย็บ หมอนรองข้อเข่า (Menicus) ก็สามารถทำได้โดยผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ทำกายภาพบำบัดได้ง่ายกว่าเดิม กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วกว่าเดิม

หลังผ่าตัดเอ็นหัวเข่า

  • ผู้ป่วยจะได้รับการพันเข่าด้วยสำลีหนาๆ แล้วพันด้วยผ้ายืด เพื่อไม่ให้บวม
  • หลังจากแผลหาย เริ่มบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า
  • ควรเลือกการบริหารกล้ามเนื้อ โดยที่เข่าไม่ต้องเพิ่มการรับน้ำหนัก เช่น การว่ายน้ำ
  • สำหรับนักกีฬาหลังผ่าตัดเมื่อทำกายกายภาพบำบัด บริหารฟื้นฟูกล้ามเนื้อแล้ว จะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม แต่ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมก่อน

การป้องกันเอ็นเข่าฉีกขาด

  • การเล่นกีฬาควรศึกษาทักษะการเล่นให้ถูกต้อง เลือกสนามที่ปลอดภัยถูกสุขลักษณะ ท่านอาจเลือกกีฬาชนิดอื่นแทนกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระแทก ปะทะแรงๆ
  • บ้านที่อยู่อาศัย ควรดูแลให้ปลอดภัย เช่น ไม่มีสิ่งกรีดขวางทางเดิน โดยเฉพาะ บ้านที่มีผู้สูงอายุควรมีราวไว้
  • เมื่อได้รับบาดเจ็บควรมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
แหล่งที่มาภาพและบทความ Phyathai.com Call Center 1772

ที่มา  www.legendnews.net

ความคิดเห็น